ก่อนทำการเซ็นรับโอนบ้านนั้นเราจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบความเรียบร้อยในทุกๆส่วนของตัวบ้านเสียก่อน เพื่อที่จะให้ช่างได้ทำการแก้ไขในส่วนที่สร้างมาไม่เรียบร้อยหรือมีปัญหา
ซึ่งหลังจากที่เราได้เซ็นรับโอนบ้านจะถือว่าเรานั้นได้ยินยอมและพอใจกับสภาพบ้านที่ทำการรับโอนบ้านจากผู้ขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การที่จะร้องขอให้มีการแก้ไขในภายหลังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับขั้นตอนนี้
การตรวจรับบ้านนั้น ถ้าเราไม่มีความรู้ความชำนาญ เราสามารถจ้างบริษัทที่รับจ้างทำการตรวจรับบ้านได้โดยตรง แต่สำหรับท่านใดที่ต้องการตรวจรับบ้านด้วยตนเองนั้นก็สามารถทำได้ไม่ยากเช่นกัน ในบทความนี้จะกล่าวถึงขั้นตอนในการตรวจรับบ้าน โดยเราจะแบ่งเป็น 7 ส่วนหลักๆ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ดังนี้
1. งานพื้น
รอยต่อ - ควรตรวจเช็คความเรียบร้อยของงานปูพื้นว่ามีความเรียบที่สม่ำเสมอกันหรือไม่ วิธีเช็คก็คือ ให้ใส่ถุงเท้าแล้วใช้เท้าไถไปกับพื้นเพื่อตรวจเช็คระหว่างรอยต่อของกระเบื้องว่ามีความเรียบระหว่างแผ่นกระเบื้องและมีร่องหรือไม่
ระนาบพื้น - วิธีเช็คง่ายๆก็คือการนำลูกแก้วหลายๆลูกมาวางเรียงกันให้เป็นตารางสี่เหลี่ยม ถ้ามีการขยับของลูกแก้วแสดงว่าพื้นบริเวณนั้นมีความลาดเอียงไม่ได้ระนาบ ควรให้ช่างเข้ามาทำการแก้ไข
พื้นที่ส่วนระบายน้ำ - ในส่วนของพื้นที่ห้องน้ำ ห้องครัว ระเบียงบ้าน หรือส่วนอื่นๆ ที่มีการระบายน้ำลงท่อ เราควรเช็คความลาดเอียงของพื้นว่ามีการระบายน้ำอย่างเหมาะสมหรือไม่ วิธีเช็คง่ายๆก็คือการราดน้ำลงบนพื้น แล้วเช็คดูว่าน้ำระบายลงท่อได้ดีหรือมีการขังของน้ำเกิดขึ้นหรือไม่
ความโปร่งใต้พื้นกระเบื้อง - ตรวจเช็คโดยการใช้เหรียญเคาะลงที่พื้นกระเบื้องเพื่อเช็คเสียง ถ้ากระเบื้องที่ปูมาดีเคาะแล้วเสียงจะทึบๆแน่นๆ แต่ถ้าแผ่นไหนเคาะแล้วเสียงดูหลวมๆโปร่งๆ ควรทำเครื่องหมายทิ้งไว้แล้วให้ช่างเข้ามาทำการแก้ไข
2. งานผนัง
ผนังทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมทั้งกำแพงบ้าน ต้องฉาบเรียบเนียนสม่ำเสมอกัน ไม่มีรอยนูนหรือรอยแตกร้าว สีที่ใช้ทาต้องมีความสม่ำเสมอกัน ถ้าบ้านหลังไหนติดวอลเปเปอร์ให้ทำการเช็คดูความเรียบเนียนว่าติดเสมอกันกับผนังหรือไม่ เช็คโดยใช้การมองแบบแนบชิดขนานกับผนัง ถ้าส่วนไหนปูดออกมาให้เราทำเครื่องหมายทิ้งไว้เพื่อให้ช่างเข้ามาทำการแก้ไขได้ในภายหลัง
3. งานเพดาน
ให้เราใช้สายตาเช็คดูว่าฝ้าเพดานมีความเรียบเนียนเสมอกันหรือมีรอยร้าวเกิดขึ้นหรือไม่ และสีที่ทามีการเก็บงานที่ละเอียดหรือไม่
4. ประตู, หน้าต่าง
ประตูรั้วหน้าบ้าน – ถ้าเป็นประตูรางเลื่อนหรือประตูบานพับเวลาเลื่อนเปิดปิดต้องไม่มีความฝืด ที่ล็อคต้องลงล็อคพอดีและสามารถคล้องกุญแจได้ ถ้าเป็นประตูไฟฟ้าให้ลองเช็คดูว่ารีโมทใช้งานเปิดปิดได้ปกติหรือไม่และรางเลื่อนมีความฝืดหรือมีเสียงเวลาเปิดปิดหรือไม่
ประตูบ้าน – เช็ควงกบประตูว่ามีความเรียบเสมอกันหรือไม่ ประตูบานพับหรือบานเลื่อนเวลาเปิดปิดต้องไม่ฝืด ลูกบิดสามารถใช้งานได้ปกติและล็อคได้ กุญแจทุกดอกต้องสามารถไขปลดล็อคได้จริง
หน้าต่าง – สามารถเปิดปิดได้ง่ายไม่ฝืด สามารถล็อคได้ กระจกต้องไม่มีรอยแตกร้าว
5. ระบบน้ำ
ท่อระบายน้ำ – ทำการเช็คโดยการเทน้ำลงบนพื้นในทุกๆจุดที่มีท่อระบายน้ำ เพื่อเช็คว่าท่อมีการระบายน้ำที่ดีและไม่มีการอุดตัน
สุขภัณฑ์ – สุขภัณฑ์ทุกชิ้นต้องมีสภาพที่ใหม่และใช้งานได้จริง ก๊อกน้ำต้องมีความแข็งแรงไม่โยกเยกและเปิดปิดได้จริงไม่มีน้ำหยด ชักโครกต้องระบายของเสียได้จริง โดยเราสามารถทำการเช็คได้โดยนำฝุ่นผงหรือเศษขนมปังเล็กๆ ทิ้งลงชักโครกและกดเพื่อดูการระบายของน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่นจำเป็นต้องติดสวิตซ์เบรกเกอร์และต้องต่อสายดินด้วย อ่างล้างมือต้องระบายน้ำได้ดีไม่มีการอุดตันและไม่ควรมีน้ำหยดตรงท่อน้ำทิ้งใต้อ่าง
ปั๊มน้ำ – ลองเปิดน้ำทุกจุดเพื่อเช็คว่าปั๊มน้ำนั้นทำงานได้จริงและมีแรงดันน้ำที่ดีหรือไม่
การรั่วซึม - ในกรณีที่ปิดน้ำแล้วแต่ยังมีการทำงานของปั๊มน้ำเกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจเกิดมาจากการรั่วซึมของน้ำตามท่อต่างๆ เราสามารถดูร่องรอยความชื้นตรงผนังตามตำแหน่งที่ท่อถูกฝังไว้ ถ้าตรงไหนมีความชื้นก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการรั่วซึมของท่อน้ำ เพราะฉะนั้นเราควรรีบแจ้งให้ช่างเข้ามาทำการแก้ไขโดยด่วน
6. ระบบไฟฟ้า
เบรกเกอร์ – เช็คว่ามีการเลือกใช้สายไฟและเมนเบรกเกอร์ตามโหลดไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ ควรเปิดเช็คไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านพร้อมกันเพื่อเช็คดูให้แน่ใจว่าเมื่อมีการใช้ไฟพร้อมกันทั้งบ้านแล้วเบรกเกอร์จะไม่ทำการตัดเนื่องจากการเสื่อมสภาพหรือการเลือกใช้เบรกเกอร์ที่ผิดเบอร์ นอกจากนี้เราควรเช็คสวิตซ์เบรกเกอร์ย่อยแต่ละตัวด้วยว่าสามารถเปิดปิดไฟได้ตรงตามตำแหน่งที่เรากำหนดไว้หรือไม่
ปลั๊กไฟ – ให้ทำการเช็คทุกจุดของปลั๊กไฟ โดยวิธีเช็คง่ายๆก็คือการลองเสียบปลั๊กชาร์จกับโทรศัพท์เพื่อเช็คดูว่ามีไฟเข้ามาหรือไม่ เราควรเตรียมไขควงเช็คไฟมาด้วย เพื่อมาทำการเช็คระหว่างปลั๊กว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้นหรือไม่ (1 ปลั๊กไฟจะต้องมีไฟออกเพียงรูเดียวเท่านั้น)
สายดิน – ทำการแกะปลั๊กไฟเพื่อเช็คว่าดูมีการเดินสายไฟครบ 3 เส้นหรือไม่ และควรเช็คกับช่างว่าตำแหน่งการฝังสายดินนั้นอยู่ตรงไหนและได้มีการฝังไว้แล้วจริงหรือไม่
7. หลังคา
ฉนวนกันร้อน และสายไฟ - เราควรเข้าไปเช็คที่ห้องใต้หลังคาเพื่อให้แน่ใจว่าช่างได้ทำการติดตั้งฟอยด์และฉนวนกันความร้อนมาให้เราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงตั้งแต่ก่อนทำการก่อสร้าง นอกจากนี้เราควรเช็คความเรียบร้อยของการเก็บสายไฟภายในห้องใต้หลังคาว่าถูกเก็บสายไว้อย่างปลอดภัยแล้วหรือยัง
การรั่วซึม - เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำเวลาฝนตก เราควรเข้าไปเช็คที่ห้องใต้หลังคาว่ามีแสงเล็ดลอดเข้ามาจากภายนอกหรือไม่ ถ้ามีควรให้ช่างเข้าไปทำการแก้ไข นอกจากนี้เรายังสามารถจ้างรถน้ำมาฉีดเพื่อทำการเช็คการรั่วซึมของหลังคาได้อีกด้วย
ทางเรา WHITE HOUSE หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อย สำหรับเพื่อนๆ ที่ต้องการติดตามผลงานของบริษัทเราสามารถติดตามได้ที่
Comments